10 วิธีรับมือเจ้าตัวน้อยช่วงปิดเทอม ให้สดใสและสุขภาพดีแบบ “ฉลาดเล่น – ฉลาดกิน”




“ปิดเทอมซัมเมอร์”
เป็นช่วงเวลาเฮฮาที่เด็กๆ ต่างรอคอย ขณะเดียวกันก็เป็นช่วงโกลาหลของบรรดาพ่อแม่ผู้ปกครองเกือบทุกคน เพราะการที่เด็กๆ ได้หยุดพักผ่อนโดยไม่ต้องไปโรงเรียนเกือบ 2 เดือนเต็ม...!! ย่อมทำให้ต้องเตรียมตัวรับมือกับความอลวนวุ่นวายของเหล่าจอมซนอย่างไม่มีทางเลือก

พ่อแม่ผู้ปกครองต่างสร้างสรรค์ “ตารางกิจกรรม” ในรูปแบบที่หลากหลาย เพื่อให้เด็กๆ ได้ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์เพราะจากสถิติชี้ให้เห็นว่าปัญหาสุขภาพโดยเฉพาะ “โรคอ้วน” มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น และที่น่าสนใจกว่านั้นคือ ผู้ประสบปัญหาส่วนหนึ่งมักจะเป็นเด็กที่อายุยังน้อยอีกด้วย

จากสถิติดังกล่าว ทำให้ผู้ปกครองต่างหาวิธีเลี้ยงดูเจ้าตัวเล็กให้เติบโตอย่างมีคุณภาพ ด้วยการสร้างเสริมกิจกรรมเพื่อเพิ่มความกระฉับกระเฉง พร้อมกับปลูกฝังพฤติกรรมการกินอาหารที่มีประโยชน์ควบคู่กันไป เพราะพฤติกรรมของเด็กในยุคดิจิตอล นอกจากจะเผชิญกับแรงกดดัน จากการเรียนที่อัดแน่นแล้ว ยังถูกโลกแห่งเทคโนโลยีครอบคลุมแบบไม่รู้ตัว ทั้งการดูโทรทัศน์ เล่นวิดีโอเกม ท่องโลกไซเบอร์ ฯลฯ ซึ่งล้วนแต่เป็นสาเหตุให้เด็กๆ ชอบเก็บตัวอยู่แต่ในบ้าน จนไม่ได้ออกกำลังกาย รวมถึง

การเลือกรับประทานอาหาร เพราะเด็กสมัยนี้จะนิยมเลือกอาหารโดยพิจารณาจากรสชาติ ความสะดวก ราคา และอาหารที่ “อินเทรนด์” มากกว่าจะคำนึงถึงคุณค่าของสารอาหารที่รับประทานเข้าไป  “รากฐานที่ดีของครอบครัว เริ่มต้นได้จากที่บ้าน” คำพูดนี้ตอกย้ำให้เห็นว่า พ่อแม่สามารถเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับลูกๆ ได้ในทุกเรื่อง เราลองมาดูกันสิคะว่า ในช่วงปิดเทอมที่แสนจะอลหม่านแบบนี้ เราจะรับมือเจ้าตัวน้อยได้อย่างไรบ้าง?



1. ผัก – ผลไม้ : จุดเริ่มต้นสำคัญของสุขภาพที่ดี
ปลูกฝังพฤติกรรมการกินผักและผลไม้ให้กับเด็กๆ ตั้งแต่เยาว์วัย ด้วยเทคนิคง่ายๆ เพียงจัดผลไม้วางไว้ที่โต๊ะรับแขก โต๊ะอาหาร หรือบริเวณที่เด็กๆ สามารถมองเห็นและหยิบรับประทานได้ง่าย หรือแค่ปอกผลไม้หรือหั่นผักสดใส่ภาชนะ แล้ววางไว้ในตู้เย็นในส่วนที่มองเห็นได้ง่ายเวลาเปิด เพียงแค่นี้ก็จะทำให้ผักและผลไม้กลายเป็นสิ่งที่เด็กๆ มีแนวโน้มจะหยิบจับมากินได้ง่ายขึ้น

2. จ่ายตลาด : ช่วงเวลาแห่งความสนุกและการเรียนรู้ของเด็กๆ
คุณพ่อคุณแม่รู้หรือไม่ว่าการไปจ่ายตลาด นอกจากเด็กๆจะได้สนุกสนานจากการเดินจับจ่ายซื้อของแล้ว บทสนทนาที่เกิดขึ้นระหว่างการช่วยเลือกผักผลไม้ จะยิ่งเพิ่มสีสันให้การจ่ายตลาด เป็นเรื่องที่ “พลาดไม่ได้” สำหรับเด็กๆ ไม่ว่าจะเป็นการสอนให้อ่านฉลากอาหารข้างกล่องเพื่อเปรียบเทียบคุณค่าของสารอาหาร ต่อด้วยการปรึกษาหารือกันว่าควรจะเลือกซื้ออาหารประเภทใดเข้าบ้าน หรือบางครั้งก็เปิดโอกาสให้เด็กๆได้แสดงความคิดเห็นต่อการจ่ายตลาดในแต่ละครั้ง

3. พ่อครัว – แม่ครัวตัวน้อย : ประสบการณ์ใหม่ช่วงปิดเทอม
บ่อยครั้งที่เราพบว่าในช่วงปิดเทอมใหญ่ ผู้ปกครองจะจัดเต็มด้วย “ตารางกิจกรรม” ซึ่งกิจกรรมยอดฮิตที่จอมซนยินดีและเต็มใจทำอย่างเต็มที่ก็คือ การได้รับบทบาทเป็น “พ่อครัว – แม่ครัวฝึกหัด” โดยคุณพ่อคุณแม่สามารถชักชวนให้เด็กๆ เข้ามามีส่วนร่วมในการเตรียมและปรุงอาหาร ซึ่งจะทำให้เด็กๆ มีแนวโน้มที่จะรับประทานอาหารมากกว่าปกติ เพราะจะเกิดความภาคภูมิใจที่ได้รับประทานอาหารจากฝีมือของตัวเอง

4. เมนูใหม่ๆ : อีกไม่นาน หนูจะชอบ!
“อดทนและอดทน” คือ บทบัญญัติที่บรรดาคุณพ่อคุณแม่ต้องท่องให้ขึ้นใจและปฏิบัติอย่างเคร่งครัด ถ้าต้องการให้เด็กๆ ทดลองรับประทานอาหารใหม่ๆ เพราะจากการศึกษาพบว่า เด็กๆ มักจะปฏิเสธไว้ก่อน หากต้องทดลองรับประทานอาหารเมนูใหม่ที่ไม่คุ้นเคย ดังนั้นเราจะต้องอดทนกับการถูกปฏิเสธนับสิบๆ ครั้ง แต่สุดท้ายมันก็คุ้มที่จะอดทนไม่ใช่หรือ

5. “คุณพ่อคุณแม่” : สุดยอดไอดอลของลูก 
เด็กๆ มักจะหาฮีโร่เพื่อเป็นแบบอย่างในการใช้ชีวิต ซึ่งไอดอลที่ดีและใกล้ตัวที่สุด ก็คือ “คุณ” ซึ่งเป็นพ่อแม่นั่นเอง โดยเฉพาะเรื่องที่เป็นไม้เบื่อไม้เมาอย่างการรับประทานอาหาร ถ้าเด็กๆ ได้รับการปลูกฝังให้บริโภคแต่อาหารที่มีประโยชน์ โดยมีผู้ปกครองเป็นแบบอย่าง เช่น การมีผักและผลไม้เป็นส่วนประกอบของอาหารทุกมื้อ หรือแม้กระทั่งรับประทานผลไม้เป็นของหวานแทนที่จะรับประทานขนม ก็มั่นใจได้ว่าเขาจะต้องก๊อบปี้ลักษณะเหล่านั้นมาจากคุณอย่างแน่นอน

6. “วินัยบนโต๊ะอาหาร” : สิ่งสำคัญที่ทำให้หม่ำได้มากขึ้น
จากผลการวิจัย การเสิร์ฟอาหารและให้เจ้าตัวน้อยรับประทานอาหารที่โต๊ะอาหาร แทนการเสิร์ฟอาหารที่ไหนก็ได้ในบ้าน มีแนวโน้มที่เด็กจะรับประทานอาหารจนเกลี้ยงจาน และเด็กก็จะเรียนรู้ว่า “เมื่ออาหารเกลี้ยงจาน” คือเวลาในการสิ้นสุดการรับประทาน

7. ฝึกวินัยให้เด็กๆ “ลด – ละ – เลิก” พฤติกรรม “กินๆนอนๆ”  
“วัยเด็ก” เป็นวัยที่เต็มไปด้วยพลังแห่งการสร้างสรรค์และความสนุกสนาน เพราะฉะนั้นช่วงเวลาปิดเทอมใหญ่ จึงเป็นช่วงฝึกวินัยให้กับเด็กๆ ในการ “ลด – ละ – เลิก” พฤติกรรมกินๆ นอนๆ เช่น การนั่งดูทีวีเป็นเวลานานๆ เล่นเกมออนไลน์ โดยที่ไม่ลุกไปเปลี่ยนอิริยาบถเลย จึงเป็นการดีที่คุณพ่อคุณแม่จะสรรหา “กิจกรรมนอกบ้าน” ซึ่งจะตอบโจทย์ความท้าทายและเสริมสร้างสุขภาพให้กับเด็กๆ มากที่สุด เช่น ขี่จักรยาน วิ่งเล่น หรือชู้ตลูกบาสด้วยกัน เป็นต้น

8. สร้างสรรค์เมนูล่วงหน้า...ไร้ปัญหา ไร้กังวล
การวางแผนเมนูล่วงหน้า จัดทำรายการจับจ่ายของและเตรียมอาหารบางอย่างเผื่อมื้อหน้า นอกจากจะช่วยคุณแม่บ้านให้ไม่ฉุกละหุกแล้ว ยังลดความกังวลในเรื่องการจัดเมนูอาหารในมื้อหน้าอีกด้วย

9. “ถั่ว ผลไม้ โยเกิร์ต ชีส สมูทตี้” ของว่างเสริมพลังสุดเฮลตี้ของเด็กๆ
“ของว่าง” ที่เด็กๆ มักจะนึกถึงทุกครั้ง คือ ขนมขบเคี้ยวที่เต็มไปด้วยแป้ง น้ำตาล และน้ำอัดลมช่วงเวลาปิดเทอมใหญ่นี้แหล่ะ คือ โอกาสทองที่เราจะฝึกให้เด็กๆ เลือกรับประทานของว่างที่สุดเฮลตี้ ไม่ว่าจะเป็นถั่ว ผลไม้ต่างๆ โยเกิร์ต ชีส ธัญพืชเพื่อสุขภาพ อีกทั้งยังสามารถฝึกทำและสร้างสรรค์เมนูใหม่ๆ กับสมูทตี้ในรสชาติที่เด็กๆ ชื่นชอบได้อีกด้วย ดังนั้นอย่าลืมเตรียมนมสด ผลไม้ และโปรตีนชนิดผง ไว้เป็นวัตถุดิบด้วยนะคะ

10. กิจกรรมเคลื่อนไหว วิธีง่ายๆ ที่ทำให้ร่างกายกระปรี้กระเปร่า
การหากิจกรรมเพื่อเสริมสร้างความกระปรี้กระเปร่า ส่งเสริมการเคลื่อนไหวเพื่อออกกำลังกายไปในตัวแบบง่ายๆ อาจเริ่มด้วยการชักชวนให้เด็กๆ มาทำกิจกรรมร่วมกันในระหว่างที่กำลังทำความสะอาดบ้าน หรือชักชวนให้ใช้การ “เดิน” มากกว่าการขับรถ เมื่อต้องไปซื้อของที่หน้าปากซอย เป็นต้น

เพียงเท่านี้... อาการคิ้วขมวดและปวดหัวคงจะห่างไกลไปได้เสียที เพราะปิดเทอมใหญ่หน้าร้อนนี้ บรรดาลูกๆ และคุณพ่อคุณแม่ก็จะมีแต่รอยยิ้มไปกับกิจกรรมที่สนุกสนานตามคอนเซ็ปต์ “ฉลาดเล่น ฉลาดกิน” ในช่วงปิดเทอมกันทุกครอบครัว

โดยโภชนากรซูซาน  โบเวอร์แมน
ที่ปรึกษาของเฮอร์บาไลฟ์ อินเตอร์เนชั่นแนล ลิมิเต็ด

Tag :




แสดงความคิดเห็น






Pooyingnaka Quiz


Advertisement